คดีอาญา-ขโมย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยยังมิได้พาเตาอบไฟฟ้าของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าของผู้เสียหาย แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2514

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

ผู้เสียหายกับคณะกลองยาวไปวัดในพิธีอุปสมบท คณะกลองยาวเล่นกลองยาวบนศาลาอยู่กับผู้เสียหายและญาติ ต่อมาคณะกลองยาวก็ลงจากศาลาประโคมกลองยาวนำหน้านาค โดยมีผู้เสียหายเดินตามไปผู้เสียหายไปได้ 2 เส้น รู้สึกตัวว่าสายสร้อยข้อมือทองคำหายจึงกลับขึ้นไปหาบนศาลา ปรากฏว่า ส. อายุไม่เกิน 7 ปี เก็บสร้อยนั้นได้บนศาลาแล้วเอาไปให้จำเลยที่ 2 อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวจำเลยที่ 2 เอาไปให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาที่ข้างศาลาในเวลากระชั้นชิดกัน จำเลยที่ 1 เอาสร้อยห่อพกออกจากวัดไปทันที เมื่อผู้เสียหายไปสอบถาม จำเลยที่ 1ว่าไม่รู้เห็น พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าสร้อยนั้นยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย ไม่ใช่ทรัพย์ตกหาย จำเลยที่ 1 น่าจะทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของพวกที่มาในคณะกลองยาวและเจ้าของจะติดตามเอาคืน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วน ส. และจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  216/2509        

คำสำคัญ

  • ไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์
  • ความผิดฐานชิงทรัพย์

สรุปย่อสั้น

จำเลยยอมให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีมีสิ่งตอบแทน แต่ผู้เสียหายผิดข้อตกลงจำเลยไม่พอใจ จึงได้ทำร้ายผู้เสียหายแล้วเอาปืนผู้เสียหายไปทิ้งที่ปรักน้ำกลางทุ่งนาเพราะกลัวผู้เสียหายจะยิงเอาการเอาปืนไปทิ้งน้ำโดยไม่นำเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์ การเอาปืนของผู้เสียหายไปทิ้งจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนไฟฉายนั้นผู้เสียหายก็ให้จำเลยไปส่องทาง จำเลยเอาไปไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2502

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยเก็บกระเป๋าใส่เงินของเจ้าทรัพย์ซึ่งเหน็บไว้ที่เอวแล้วเลื่อนหลุดไปจากเอวในขณะนั่งดูภาพยนต์อยู่ใกล้เคียงกันในโรงภาพยนต์นั้นถือว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความยึดถือของเจ้าทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพของตกของหายเมื่อจำเลยเอาไปเสีย ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *