คดีหย่า-ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสหลังจากการหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557

ประเด็นสำคัญ

  • ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากันหากกฎหมายสัญชาติของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมให้หย่า แต่หากกฎหมายสัญชาติของทั้งสองฝ่ายให้หย่ากัน เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่า
  • หากมีการสมรสกันอยู่สิทธิในการเลี้ยงดูคู่สมรสจะยังไม่หมดไป แต่หากหย่าขาดกันแล้ว สถานะในการสมรสสิ้นสุดลง สิทธิในการเลี้ยงดูคู่สมรสก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย

สรุปย่อสั้น

โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า” เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่

ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540

ประเด็นสำคัญ

  • หากการหย่าเป็นเพราะความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส สามารถขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ โดยศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจาณาการให้
  • เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่สมรสเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คู่สมรสฝ่ายที่จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกลับมีสภาพฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยสามารถให้คู่สมรสฝ่ายนั้นงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่อีกฝ่ายได้

สรุปย่อสั้น

มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

ประเด็นสำคัญ

  • หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู คู่สมรสอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการฟ้องหย่า ก็ยังคงสามารถฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา สามารถเรียกจากกันได้หากฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ

สรุปย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า

หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *