คดีหย่า-แบ่งสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559

ประเด็นสำคัญ

  • คู่สมรสที่หย่ากันสามารถตกลงกันที่จะแบ่งทรัพย์สินไม่เท่ากันก็ได้แล้วแต่ความต้องการของคู่หย่า
  • ข้อตกลงในบันทึกทะเบียนหย่าของคู่สมรส ที่สำนักงานเขตจะชอบด้วยกฎหมายเหมือนเป็นสัญญาประนีประนอมตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรส
  • ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถที่จะเรียกร้องทรัพย์สินนอกเหนือจากที่ได้ตกลงกันไว้ในบันทึกทะเบียนหย่า

สรุปย่อสั้น

เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้

เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ “ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง” ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2531

ประเด็นสำคัญ

  • เมื่อคู่สมรสทำหนังสือหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินสมรสแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนหย่า สินสมรสจะยังคงมีตามเดิม
  • ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้เสียเปรียบเมื่อทรัพย์สินสมรสถูกโอนไปยังบุคคนภายนอกโดยไม่ชอบ ฝ่ายที่เสียเปรียบสามารถฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง

สรุปย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2โดยทั้งสองคนทราบดีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนและจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าโอนโดยวิธีการอย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร เพราะเป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ทั้งโจทก์ได้ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่พิพาทให้แก่โจทก์คนเดียวกับมีคำขอบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสองกระทำลงโดยมิชอบ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว

โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยชอบ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันแล้ว เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 แต่ข้อตกลงเรื่องการหย่าและข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินเช่นนี้เป็นข้อตกลงที่แยกจากกันไม่ได้เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นคงเป็นสินสมรสอยู่ตามเดิม โจทก์อ้างไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาแต่โดยที่โจทก์มีสิทธิในทรัพย์สินอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง ทั้งคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองลักลอบโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน และแจ้งเท็จว่าจำเลยที่ 1 เป็นม่าย เท่ากับกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันโอนที่พิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480วรรคสอง.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2540

ประเด็นสำคัญ

  • ทรัพย์ที่หามาร่วมกันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่ละฝ่ายมีอำนาจจัดการได้เพียงลำพัง หากมีการสมรสขึ้นภายหลัง สินส่วนตัวก็ไม่กลายมาเป็นสินสมรส
  • หากจดทะเบียนหย่ากันแล้ว จะไม่ใช่การฟ้องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แต่เป็นการฟ้องร้องตามกฎหมายแพ่งทั่วไป

สรุปย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จำเลยหามาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส จึงเท่ากับโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่ก่อนสมรสอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1471 (1)ซึ่งแต่ละฝ่ายในฐานะเจ้าของย่อมมีอำนาจจัดการเองได้โดยลำพังตามมาตรา 1473และมาตรา 1336 แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ก็ไม่ทำให้สินส่วนตัวนั้นกลับเป็นสินสมรสได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดร่วมกันของสามีภริยาที่มีอยู่ก่อนสมรส แม้จะยังไม่แบ่งปันกันเป็นสัดส่วนภายหลังสมรสก็หาทำให้ทรัพย์สินนั้นกลายเป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไปไม่เหตุนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับจำเลยอยู่ก่อนการสมรส เนื่องจากโจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป จึงไม่ใช่การฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา อันต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการห้ามมิให้สามีหรือภริยายึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1487ก็ไม่ใช่บทบัญญัติห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้แบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ก่อนสมรสดังกรณีของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือขอแบ่งที่ดินดังกล่าวไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่แบ่งให้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1363 ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2535

ประเด็นสำคัญ

  • การจะแบ่งสินสมรสได้ต้องมีการหย่ากันเท่านั้น
  • ถ้าไม่มีการหย่ากันแล้วคู่สมรสจำหน่ายสินสมรสไปให้ตนเองแต่ฝ่ายเดียว ก็ให้ทรัพย์สินยังคงมีอยู่เพื่อแบ่งสินสมรส

สรุปย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 การจะแบ่งสินสมรสได้ต้องมีการหย่ากันเท่านั้น เมื่อไม่มีการหย่าแม้คู่สมรสจะจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว มาตรา 1534 ก็ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 กฎหมายมิได้มุ่งประสงค์ให้แบ่งสินสมรสกันได้หากคู่สมรสยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์สินสมรสแต่ปัญหาชั้นฎีกามีเพียงคำขอของโจทก์ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งเป็นคำขอแบ่งสินสมรสเท่านั้น เมื่อกฎหมายให้ถือเสมือนว่ารถยนต์ยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาท.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2545

ประเด็นสำคัญ

  • เมื่อมีการหย่าโดยความยินยอมหรือโดยคำพิพากษาของศาล ต้องมีการจัดการแบ่งทรัพย์สินสมรส
  • สินสมรสที่เป็นเงินตราสามารถจัดการได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • ร้านเสริมสวยที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกัน กิจการร้านเสริมสวยดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสมีอยู่แล้วก่อนสมรส  จึงเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรส ฝ่ายไหนลงทุนไปจำนวนเท่าไหร่ สินส่วนตัวก็มีจำนวนเท่านั้น
  • ที่ดินและห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาภายหลังจากการจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นสินสมรส   
  • รายได้จากกิจการร้านเสริมสวยที่ดำเนินกิจการก่อนสมรส เป็นสินสมรส และไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินสินส่วนตัวหรือส่วนไหนเป็นเงินสินสมรสได้  กล่าวคือ รายได้ที่มาจากกิจการร้ายเสริมสวยเป็นสินสมรส แม้ว่าจะดำเนินกิจการมาก่อนสมรสก็ตาม

สรุปย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1532 กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่าไม่ว่าจะเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยด้วยแล้ว จำเลยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์ระบุในคำฟ้องก็ตามทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาการแบ่งสินสมรสเป็นอันยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดแห่งการสมรส
โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้และแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่9 มกราคม 2536 ตลอดมาจนถึงวันฟ้องหย่าแต่การสมรสระหว่างโจทก์จำเลยหาสิ้นสุดลงไม่ สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังดำรงคงอยู่ตลอดเวลาและจำเลยมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ หากจำเลยใช้จ่ายเงินตราสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องขอให้จำเลยชดใช้ โดยตั้งประเด็นให้ชดใช้สินสมรสที่ขาดหายไปโดยเฉพาะเจาะจงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1534 ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำนวนเงินสินสมรสในบัญชีเงินฝากที่เป็นฐานในการคิดคำนวณแบ่งปันกันให้ถือตามที่มีอยู่ในวันฟ้อง จึงชอบแล้ว
รายได้จากร้านเสริมสวยจำนวน 1,000,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในการจะต้องคืนเงินส่วนนี้แก่จำเลย แต่จะต้องแบ่งคืนแก่จำเลยเมื่อได้รับชำระเงินยืมจำนวนนี้คืนจากผู้ยืมแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องเงินจำนวนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์นำเอาเงิน 1,000,000 บาทมาคำนวณหักกลบลบหนี้ในการแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์จำเลยคนละกึ่งหนึ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงไม่ชอบกรณีมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสไม่ชอบ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการบังคับเอากับสินสมรสที่จัดแบ่งแล้วอย่างไร จึงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 ต้องถือว่ารายได้จากร้านเสริมสวย ยังไม่สามารถนำมาคิดคำนวณแบ่งสินสมรสเพราะยังไม่ได้รับชำระคืนจากผู้ยืม
เงิน 100,000 บาท ของจำเลยเมื่อนำมารวมกับเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านแล้ว ย่อมเปลี่ยนเป็นที่ดินและบ้านที่ซื้อมาจึงไม่มีเงินที่ต้องคืนให้จำเลยหรือโจทก์อีก
โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกัน กิจการร้านเสริมสวยดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยมีอยู่แล้วก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ลงทุนในกิจการดังกล่าว 200,000 บาท ส่วนจำเลยลงทุน100,000 บาท กิจการร้านเสริมสวย จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามสัดส่วนของเงินลงทุน คือ 2 ต่อ 1
ที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องจำเลยได้รับโอนมาภายหลังจากโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ส่วนเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดที่จำเลยนำไปชำระนั้น จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย แต่เงินในบัญชีดังกล่าวมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วย ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย ส่วนไหนเป็นเงินสินสมรสได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเงินสินส่วนตัวของจำเลยเข้ามาปะปนอยู่กับเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดทั้งสี่เป็นจำนวนเท่าใด กรณีจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 วรรคท้าย ว่า เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นสินสมรสด้วยที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องนี้จึงเป็นสินสมรสเต็มจำนวนที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง
เงินฝากในบัญชีธนาคารมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วยโดยระคนปนกันจนไม่อาจจำแนกได้ว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าใดจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเงินในบัญชีนี้เป็นสินสมรส ฉะนั้น เมื่อจำเลยถอนเงินในบัญชีดังกล่าวมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เงินฝากในบัญชีใหม่นี้จึงเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งเช่นเดียวกันด้วย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเงินฝากในบัญชีเงินฝากทั้งสองฉบับคงมีเงินเหลืออยู่เพียงบัญชีเดียวจำนวนเงิน 211,562.61 บาท อันเป็นเงินสินสมรสที่ต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่ง โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีการถอนออกไปบางส่วนหลังวันฟ้องเพื่อผ่อนชำระค่าซื้อบ้าน ที่ดินรถยนต์และคอนโดมิเนียม คงเหลือเงินในบัญชีเพียง 39,169.08 บาท เท่านั้น จำเลยมิได้โต้แย้งว่าเงินที่ถูกถอนออกไปนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องอย่างใด เมื่อเงินฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นสินสมรสและการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่สิ้นสุดลง โจทก์จึงยังคงมีสิทธิจัดการสินสมรสในส่วนที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยโดยการถอนเงินจากธนาคารแม้หลังจากฟ้องคดีนี้แล้วได้ จึงต้องถือตามจำนวนเงินที่มีอยู่จริงตามที่โจทก์แถลงและจำเลยยอมรับโดยไม่โต้แย้งคัดค้านจะย้อนหลังไปถือเอาจำนวนเงินที่เคยมีอยู่จริงมิได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *