คดีหย่า-การหย่ากับชาวต่างชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549

ประเด็นสำคัญ

  • การหย่ากับชาวต่างชาติ ศาลไม่อนุญาตให้หย่าขาดขาดกัน ยกเว้นกฎหมายสัญชาติของสามีหรือภรรยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
  • สำหรับเหตุหย่าตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง เช่น หากยื่นฟ้องที่ประเทศไทย ก็ต้องใช้กฎหมายไทยในการตัดสิน
  • การฟ้องหย่าได้ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ตามข้อเท็จจริงโจทก์มีหลักฐานพอที่จะฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) เป็นข้อเท็จจริงอันสมควรที่จะเป็นเหตุหย่าได้ หากไม่มีเหตุหย่าจะไม่สามารถฟ้องได้

สรุปย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาฎีกาที่ 2887/2563

ประเด็นสำคัญ

  • การจดทะเบียนสมรสที่ต่างประเทศ ต้องดูว่าสมบูรณ์ตามกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่ เช่น หญิงสมรสกับหญิง แม้จะสมบูรณ์ที่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่เป็นสามีภริยาตามกฎหมายไทย เพราะกฎหมายไทยยังไม่มีบัญญัติในเรื่องการสมรสในเพศเดียวกัน

สรุปย่อสั้ัน

โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า “การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้” และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์” ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557

ประเด็นสำคัญ

  • หากมีการฟ้องคดีหย่ากับชาวต่างชาติ ต้องนำสืบกฎหมายสัญชาติของคู่สมรสด้วย หากไม่นำสืบ ศาลสามารถยกฟ้องได้
  • หากนำสืบแล้วกฎหมายสัญชาติของทั้งสองฝ่ายยินยอมให้หย่าได้ ก็ให้การหย่าเป็นไปตามกฎหมายของถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า

สรุปย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลสัญชาติแอลจีเรีย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า” ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความว่า กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรีย ศาลชั้นต้นยกฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2558

ประเด็นสำคัญ

  • การหย่ากับชาวต่างชาติ ศาลไม่อนุญาตให้หย่าขาดขาดกัน ยกเว้นกฎหมายสัญชาติของสามีหรือภรรยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
  • กฎหมายประเทศอังกฤษห้ามหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส หากทำการหย่ายังไม่พ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าไม่มีการโต้แย้งเรื่องระยะเวลา สามารถหย่าได้
  • การทิ้งร้าง คือ การที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป ไม่ใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร

สรุปย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ แต่โจทก์คงมีแต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมิใช่ผู้ชำนาญกฎหมายประเทศอังกฤษมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร ซึ่งในบทบัญญัติกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ห้ามการหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส เมื่อโจทก์นำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขการหย่าและคดีนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาการหย่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่จริงของกฎหมายที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประเทศอังกฤษหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ย่อมรับฟังได้ว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่าขาดกันได้ ซึ่งต้องตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แล้ว ทำให้ศาลไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องนั้น เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่
การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของ พ. ล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่ พ. รู้เห็นด้วยตนเอง การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสซึ่งโจทก์ขอจำเลยแต่งงานโดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้ 

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *