คดีหย่า-เหตุหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2562

ประเด็นสำคัญ

  • การสมรส ไม่สามารถสมรสในขณะที่มีคู่สมรสอยู่ได้ การสมรสจะตกเป็นโมฆะ หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งสามารถร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้
  • เมื่อสมรสในขณะสมรสอยู่ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการอยู่ด้วยกันก็ไม่นับว่าเป็นทรัพย์สินสมรส
  • ทรัพย์สินที่มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันโดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องแบ่งทรัพย์สินให้ทั้งสองฝ่ายคนละครึ่ง

สรุปย่อสั้น

ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์อ้างเหตุหย่าว่าเป็นความผิดของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจึงสืบพยานจำเลยไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามฟ้องแย้งของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีอยู่ว่า มีเหตุหย่าตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุต่าง ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดี อ้างว่าการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ เพราะขณะทำการสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ประเด็นก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันและแม้ในคดีก่อน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้” เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิมในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย” ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” และมาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้แบ่งสินสมรสอันได้แก่ ห้องชุด เลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 ครึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงิน 9,250,000 บาท หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลขายระหว่างกันเอง หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งคนละเท่า ๆ กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 150,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2558 รวม 65 เดือน คิดเป็นเงิน 9,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 190,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือจนกว่าโจทก์จะทำการสมรสใหม่ และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาทจำเลยให้การขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งสินสมรส ได้แก่ ห้องชุดเลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 คนละเท่า ๆ กัน หากแบ่งไม่ได้ให้ตกลงประมูลขายระหว่างโจทก์กับจำเลย หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งกันคนละเท่า ๆ กัน โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยกโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่แบ่งให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 9,250,000 บาท หากไม่ใช้ราคาให้ตกลงประมูลขายกันเองระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกโจทก์ฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนเชื้อชาติลิทัวเนีย สัญชาติไอร์ริช ส่วนจำเลยมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์ริช โจทก์และจำเลยต่างเคยมีครอบครัวและบุตรมาก่อน เมื่อเดือนกันยายน 2536 โจทก์และจำเลยอยู่ในประเทศลิทัวเนียได้รู้จักกันและคบหากันฉันชู้สาว ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2536 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันอีกที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์และจำเลยไม่มีบุตรด้วยกัน แต่ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยากันนั้นได้มีการซื้อห้องชุดเลขที่ 377/49 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 โดยมีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของต่อมาเมื่อปลายปี 2552 โจทก์และจำเลยมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จำเลยเดินทางมาอยู่ที่ประเทศไทย ส่วนโจทก์อยู่ที่ประเทศโปรตุเกส และไม่ได้อยู่ร่วมกันอีกเลยเป็นเวลาเกินกว่าสามปี ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น โดยอ้างเหตุหย่าว่า โจทก์ประพฤติชั่วทำให้จำเลยได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควรกับโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยไปเกินหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) (ค) และ (4) ในคดีดังกล่าว โจทก์ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งอ้างเหตุหย่าว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่น และร่วมประเวณีผู้อื่นเป็นอาจิณ จำเลยประพฤติชั่ว ข่มเหงโจทก์ ทำร้ายร่างกายโจทก์ จงใจละทิ้งโจทก์ไปเกินหนึ่งปี กับไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (1), (2) (ก) (ข), (3), (4) และ (6) วันที่ 23 มีนาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกฟ้องแย้ง ปรากฏตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง กับคำพิพากษาในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 159/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้น จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่ตั้งแต่ชั้นรับคำให้การจำเลยว่าจะมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ประการใด แล้วดำเนินกระบวนการพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี วันที่ 26 พฤษภาคม 2556 จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีการสืบพยานจำเลยไป วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง คดีถึงที่สุดปรากฏตามคำร้องขอถอนฟ้อง คำเบิกความพยานจำเลย คำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เป็นเพราะก่อนคดีนี้ จำเลยได้ฟ้องหย่าโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวมีการถอนฟ้องไป โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย คดีถึงที่สุด โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว จึงมาฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น และขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทเป็นคดีนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าคู่ความได้ยอมรับอำนาจศาลไทยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะเป็นโมฆะ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ นั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า ก่อนโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยได้หย่าขาดจากคู่สมรสเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ส่วนจำเลยนำสืบว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเทศไอร์แลนด์ ค.ศ.1937 ในมาตรา 41 ข้อ 3.2 บัญญัติว่า “จะไม่มีการออกกฎหมายใดเพื่อยินยอมให้เกิดการสิ้นสุดของการสมรสได้” แต่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว เรื่องการสิ้นสุดของการสมรสโดยการหย่าได้ โดยบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับนาง ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้” เื มื่อโจทก์มิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อนำสืบของจำเลยว่า ขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้ว คือ นาง ซ. เพราะจำเลยไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติ ที่พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจาก นาง ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลย คือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศไทย” ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” และมาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรสอยู่ คือ นาง ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย จึงเป็นโมฆะซึ่งผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1498 ข้อที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ทำการสมรสโดยสุจริต นั้น ก็ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า เหตุที่จำเลยรู้จักและคบหาโจทก์ อันนำไปสู่การจดทะเบียนสมรสถึงสองครั้งนั้นเป็นเพราะจำเลยอ่านพบข้อความประกาศหาคู่ของโจทก์ในหนังสือพิมพ์ และโจทก์กับจำเลยเพิ่งรู้จักกันเมื่อเดือนกันยายน 2536 หลังจากนั้น ประมาณ 2 เดือน จึงได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่า ไม่เคยเดินทางไปที่ประเทศดังกล่าว และจำเลยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน โจทก์ไม่ทราบรายละเอียด ทั้งการที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากจดทะเบียนสมรสครั้งแรกเพียงหนึ่งเดือนเศษ เช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของการจดทะเบียนสมรสครั้งแรกของโจทก์และจำเลยที่สาธารณรัฐโดมินิกัน นอกจากนี้การที่โจทก์และจำเลยเลือกที่จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศดังกล่าว ทั้งที่โจทก์และจำเลยมิได้ถือสัญชาติโดมินิกัน รวมทั้งมิได้มีภูมิลำเนา หรือทรัพย์สินใด ๆ อยู่ในประเทศนี้ ชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธในการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ทำให้น่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการสมรสในครั้งนี้ว่าเป็นการจ้างวานบุคคลให้จัดทำเอกสาร โดยมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันจริง ในส่วนการหย่าระหว่างจำเลยและนาง ซ. คู่สมรสเดิมซึ่งโจทก์นำสืบโดยอ้างสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น เขตศาลซานโต โดมิงโก้ สาธารณรัฐโดมินิกัน โดยโจทก์อ้างในทำนองว่า โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยได้หย่าขาดจากคู่สมรสเดิมแล้ว แต่ปรากฏตามสำเนาจดหมายพร้อมคำแปล ซึ่งโจทก์อ้างว่า เป็นจดหมายที่จำเลยเขียนถึงโจทก์ก่อนที่โจทก์และจำเลยสมรสกัน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์เนื้อความในเอกสารนี้ที่มีใจความว่า “มันไม่มีการหย่าในประเทศไอร์แลนด์ แต่ผมได้หย่าที่อเมริกาใต้เรียบร้อยแล้ว” จากข้อความในจดหมายดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโจทก์ทราบมาแต่ต้นแล้วว่า จำเลยไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมที่ประเทศไอร์แลนด์ได้ แต่กลับมีเอกสารเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ให้จำเลยหย่าขาดจากคู่สมรสเดิม และโจทก์ จำเลยยังสามารถทำการสมรสกันตามกฎหมายประเทศดังกล่าวได้ โดยที่ไม่เคยเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันเลย ทั้งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันก็มิได้มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้นกับโจทก์และจำเลย เช่นนี้จึงเป็นข้อพิรุธจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการว่าจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรสเดิม มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1499 สำหรับห้องชุดพิพาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสที่จำเลยต้องแบ่งให้แก่โจทก์นั้น เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น แม้ห้องชุดดังกล่าวโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าว มีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามหลักในเรื่องกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559

ประเด็นสำคัญ

  • การเป็นสามีภริยาต้องมีการร่วมประเวณีกัน แต่หากการร่วมประเวณีนั้นไม่ได้เกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย มีการขืนใจเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276
  • คู่สมรสทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือห มิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นการร้ายแรง ฝ่ายที่ถูกกระทำสามารถฟ้องหย่าได้

สรุปย่อสั้น

แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276

การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

ประเด็นสำคัญ

  • คู่สมรสอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นเหมือนภรรยาหรือสามีของตน คู่สมรสเป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้
  • คู่สมรสฝ่ายที่เป็นฝ่ายเสียหายสามารถเรียกค่าทดแทนจากชู้ของคู่สมรสอีกฝ่ายที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ โดยไม่ต้องมีการฟ้องหย่าก่อน

สรุปย่อสั้น

ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561

ประเด็นสำคัญ

  • การร่วมประเวณีของคู่สมรสต้องเกิดจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย หากทั้งสองฝ่ายยินยอมก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้
  • คู่สมรสต้องมีการทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายเสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จึงจะทำให้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้
  • สามีภรรยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ คู่สมรสอีกฝ่ายต้องอุปการะเลี้ยงดู

สรุปย่อสั้น

การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า

สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561

ประเด็นสำคัญ

  • คู่สมรสสามารถทำหนังสือร้องเรียนคู่สมรสของตนในเรื่องความประพฤติส่วนตัวได้ เพราะคู่สมรสย่อมต้องมีความรักและหึงหวงคู่สมรสของตนอันเป็นสิทธิของคู่สมรสที่สามารถกระทำได้
  • สิ่งที่คู่สมรสทำไปเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัว ไม่ให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวสามารถกระทำได้ตามสมควร
  • การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงสามารถเป็นเหตุหย่าได้

สรุปย่อสั้น

การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *