การรับบุตรบุญธรรม (Adoption) |
แต่เดิมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติ และผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันเท่านั้น ซึ่งการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมส่วนใหญ่จะมาจากเจตนาดี หรือความสงสาร หรือความต้องการที่จะเกื้อหนุนกันในกลุ่มเครือญาติ แต่ต่อมาการรับบุตรบุญธรรมก็แพร่ขยายกว้างขวาง ออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่นๆที่ประสงค์จะรับเด็กไว้ในอุปการะ เช่น ในครอบครัวที่ไม่มีบุตร ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ดังนั้นหากปล่อยให้การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กระทำได้อย่างเสรีไม่มีการควบคุม อาจมีผู้ถือโอกาสหาประโยชน์จากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กอาจไม่เคยพบเจอกันมาก่อน เช่น การแสดงความจำนงขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากสถานสงเคราะห์ โดยปกติผู้รับบุตรบุญธรรม และเด็กไม่มีโอกาสพบกันมาก่อน ย่อมไม่คุ้นเคยกัน กฎหมายจึงกำหนดมาตรการหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้โอกาสผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กสร้างความคุ้นเคยกันเสียก่อนที่จะมีการตกลงปลงใจจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มาตรการดังกล่าวคือการกำหนดให้มีการทดลองเลี้ยงดูเด็กเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อทดสอบว่าผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูเด็กหรือไม่ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในระหว่างเครือญาติ กฎหมายก็ยกเว้นให้ไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กก่อน เพราะมีความเชื่อว่าบุคคลที่เป็นญาติของเด็กย่อมจะไม่คิดร้ายต่อเด็ก และรวมถึงกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กไม่ใช่ญาติทางสายเลือด หากแต่เป็นบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยผลของกฎหมาย เช่น เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมเอง หรือ อาจเป็นบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีเช่นนี้ย่อมวางใจได้ว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมน่าจะต้องมีเจตนาจริงใจในการรับบุตรบุญธรรม ดังนั้นใน พ.ศ. 2533 จึงมีการแก้กฎหมายเพิ่มข้อยกเว้นไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็ก ให้ขยายไปถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะรับบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนไม่จำต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กก่อน
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม” โดยตรงมี 2 ฉบับ คือ
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร และหมวด 4 บุตรบุญธรรม กฎหมายในส่วนนี้ใช้บังคับกับการรับบุตรบุญธรรมทุกกรณี ไม่ว่าบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม
- พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2533 ประกอบกับ กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2543) กฎหมายในส่วนนี้บัญญัติถึงวิธีการและขั้นตอนในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยเน้นในเรื่องแบบวิธีในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นสำคัญ รวมตลอดถึงการทดลองเลี้ยงดู ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมด้วย
|