การสมรส-สินสอด/ของหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2526

ประเด็นสำคัญ

  • การหมั้นเป็นสัญญาที่ฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิง เพื่อที่จะได้ทำการสมรสกัน
  • เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น สามารถเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้นได้
  • สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส สินสอดเรียกคืนได้

สรุปย่อสั้น

การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส

โจทก์และ ง. เป็นฝ่ายชายตกลงทำสัญญาหมั้นกับจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงและมอบสินสอดให้ เพื่อให้ ง. กับจำเลยที่ 3 ทำการสมรสกัน เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดคืนได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 บัญญัติถึงผู้มีสิทธิเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้นไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีมิได้บัญญัติแต่เฉพาะชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2518

ประเด็นสำคัญ

  • สินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง
  • การให้สินสอดสามารถให้ภายหลังการสมรสได้ แต่หากเป็นสัญญาหมั้นต้องทำก่อนหรือขณะทำสมรสเท่านั้น
  • ต้องมีการจดทะเบียนสมรสก่อน ฝ่ายชายจึงจะสามารถเรียกสินสอดคืนได้ หากไม่มีการจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายจะเรียกคืนไม่ได้

สรุปย่อสั้น

อันสินสอดนั้นตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสและเมื่อมีข้อตกลงจะให้สินสอดแก่กันแล้ว การให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งต่างกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส

บิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และ ว. ทำพิธีแต่งงานกัน และโจทก์เต็มใจยอมสมรสมารดาโจทก์ได้เตือนให้โจทก์และ ว ไปจดทะเบียนสมรส แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนโดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน 3 เดือนก็มีเหตุต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียน ดังนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้

จำเลยและ ว. บุตรชายตกลงหมั้นโจทก์และตกลงจะให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นสินสอดแก่บิดามารดาโจทก์ในวันสมรส ถึงกำหนดจำเลยขอผัดให้เงินสินสอดภายหลัง มารดาโจทก์ยินยอมให้โจทก์แต่งงานกับ ว. เพื่อมิให้เสียพิธี แต่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันหลังจากสมรสแล้วจำเลยขอทำสัญญากู้ให้มารดาโจทก์แทนเงินสินสอดที่ตกลงจะให้ มารดาโจทก์ต้องการเอาเงินนั้นให้โจทก์ จึงให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ ดังนี้ แม้โจทก์กับ ว. จะมิได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อการที่มิได้จดทะเบียนสมรสนั้น จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ชายย่อมเรียกสินสอดคืนไม่ได้ สัญญากู้จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดามารดาโจทก์ตกลงยกให้โจทก์ และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้นี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้ที่แปลงหนี้มานี้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549

ประเด็นสำคัญ

  • การหมั้นตามกฎหมายต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย
  • หากการหมั้นเป็นการหมั้นตามประเพณี ไม่ได้มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์สินที่มอบให้กันจะไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ได้มอบไว้เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น
  • หากเป็นการหมั้นตามประเพณี ของหมั้นที่จะส่งคืนฝ่ายชายจะเป็นการส่งคืนทรัพย์ ไม่ใช่การฝากทรัพย์ เพราะกรรมสิทธิ์ยังอยู่ที่ฝ่ายชาย หากฝ่ายหญิงต้องการที่จะเรียกคืน ไม่สามารถทำได้

สรุปย่อสั้น

การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559

คำสำคัญ

  • สินสอด
  • หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแต่ต่อมาไม่มีการซื่้อขายไม่ใช่สินสอด
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437

สรุปย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *