อำนาจปกครองบุตร-อำนาจปกครองบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560

คำสำคัญ

  • การใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยไม่ชอบ
  • ถอนอำนาจปกครอง
  • ตั้งเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์
  • ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง, มาตรา 1567 (1), มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

คำสำคัญ

  • การขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า
  • ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • การใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ
  • เหตุที่จะถอนอำนาจปกครอง
  • การขอให้เพิกถอนอำนาจปกครอง
  • ป.พ.พ. มาตรา 1520, มาตรา 1521, 1582 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247

ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2556

คำสำคัญ

  • บุตรที่เป็นผู้เยาว์ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
  • ศาลสามารถสั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้
  • การสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครอง
  • ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง, มาตรา 1566, มาตรา 1521, มาตรา 1566 วรรคสอง (5)

สรุปย่อสั้น

แม้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” แต่ก็มีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (5) ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ หากผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของผู้เยาว์เป็นสำคัญ โดยไม่ถือว่าเป็นการสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548        

คำสำคัญ

  • ผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว
  • อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
  • การถอนอำนาจปกครอง
  • ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง, มาตรา 1566 วรรคสอง (6), มาตรา 1582, มาตรา 1566 วรรคสอง (1), 1585 วรรคหนึ่ง, มาตรา 1586 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. ซึ่งเป็นบิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540

คำสำคัญ

  • ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
  • ได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่า
  • ได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา
  • สถานในการทำสัญญาคือสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1520, มาตรา 1566(6)

สรุปย่อสั้น

การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และมาตรา 1566(6)อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญาโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือ ข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้นสถานที่ที่ได้มีการ จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2523

คำสำคัญ

  • อำนาจปกครองบุตร
  • มารดามีอำนาจปกครองบุตร
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
  • บิดามารดาอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

สรุปย่อสั้น

โจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวด้วยทรัพย์และอำนาจปกครองบุตรจึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองจำเลยมีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงได้รวมทั้งข้อเรียกร้องคืนทรัพย์ด้วย

แม้จำเลยซึ่งเป็นบิดาจะมีรายได้และฐานะดีกว่าโจทก์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาก็มีอำนาจปกครองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งแก้ไขใหม่และ ใช้บังคับในขณะพิพาท และเมื่อเลิกอยู่กินกับจำเลยแล้วโจทก์ทำงานได้เงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท ได้ค่าเช่าห้องแถวเดือนละ 1,200 บาทกับมีที่ดินอีก 2 แปลงราคารวมกันประมาณ 500,000 บาท ญาติทุกคนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ในการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก โจทก์สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองได้ ทั้งโจทก์และจำเลยอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 4 คน การให้บุตรคนเล็ก 2 คนอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ดังขอจึงเป็นการสมควรทั้งนี้ตามบรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ที่ใช้บังคับในขณะพิพาท

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

การสมรส-สินสอด/ของหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2526

ประเด็นสำคัญ

  • การหมั้นเป็นสัญญาที่ฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิง เพื่อที่จะได้ทำการสมรสกัน
  • เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น สามารถเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้นได้
  • สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส สินสอดเรียกคืนได้

สรุปย่อสั้น

การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส

โจทก์และ ง. เป็นฝ่ายชายตกลงทำสัญญาหมั้นกับจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงและมอบสินสอดให้ เพื่อให้ ง. กับจำเลยที่ 3 ทำการสมรสกัน เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดคืนได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 บัญญัติถึงผู้มีสิทธิเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้นไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีมิได้บัญญัติแต่เฉพาะชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2518

ประเด็นสำคัญ

  • สินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง
  • การให้สินสอดสามารถให้ภายหลังการสมรสได้ แต่หากเป็นสัญญาหมั้นต้องทำก่อนหรือขณะทำสมรสเท่านั้น
  • ต้องมีการจดทะเบียนสมรสก่อน ฝ่ายชายจึงจะสามารถเรียกสินสอดคืนได้ หากไม่มีการจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายจะเรียกคืนไม่ได้

สรุปย่อสั้น

อันสินสอดนั้นตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสและเมื่อมีข้อตกลงจะให้สินสอดแก่กันแล้ว การให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งต่างกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส

บิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และ ว. ทำพิธีแต่งงานกัน และโจทก์เต็มใจยอมสมรสมารดาโจทก์ได้เตือนให้โจทก์และ ว ไปจดทะเบียนสมรส แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนโดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน 3 เดือนก็มีเหตุต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียน ดังนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้

จำเลยและ ว. บุตรชายตกลงหมั้นโจทก์และตกลงจะให้เงินจำนวนหนึ่งเป็นสินสอดแก่บิดามารดาโจทก์ในวันสมรส ถึงกำหนดจำเลยขอผัดให้เงินสินสอดภายหลัง มารดาโจทก์ยินยอมให้โจทก์แต่งงานกับ ว. เพื่อมิให้เสียพิธี แต่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันหลังจากสมรสแล้วจำเลยขอทำสัญญากู้ให้มารดาโจทก์แทนเงินสินสอดที่ตกลงจะให้ มารดาโจทก์ต้องการเอาเงินนั้นให้โจทก์ จึงให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ ดังนี้ แม้โจทก์กับ ว. จะมิได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อการที่มิได้จดทะเบียนสมรสนั้น จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ชายย่อมเรียกสินสอดคืนไม่ได้ สัญญากู้จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดามารดาโจทก์ตกลงยกให้โจทก์ และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้นี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้ที่แปลงหนี้มานี้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549

ประเด็นสำคัญ

  • การหมั้นตามกฎหมายต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย
  • หากการหมั้นเป็นการหมั้นตามประเพณี ไม่ได้มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์สินที่มอบให้กันจะไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ได้มอบไว้เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น
  • หากเป็นการหมั้นตามประเพณี ของหมั้นที่จะส่งคืนฝ่ายชายจะเป็นการส่งคืนทรัพย์ ไม่ใช่การฝากทรัพย์ เพราะกรรมสิทธิ์ยังอยู่ที่ฝ่ายชาย หากฝ่ายหญิงต้องการที่จะเรียกคืน ไม่สามารถทำได้

สรุปย่อสั้น

การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559

คำสำคัญ

  • สินสอด
  • หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแต่ต่อมาไม่มีการซื่้อขายไม่ใช่สินสอด
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437

สรุปย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คดีอาญา-ปลอมแปลงเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2537  

คำสำคัญ

  • ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา
  • การนำภาพถ่ายปิดทับหนังสือเดินทาง ทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นเอกสารหนังสือเดินทาง
  • การปลอมแปลงเอกสารราชการ
  • ความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(7)

สรุปย่อสั้น

จำเลยเอาหนังสือเดินทาง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศออกให้แก่นายสิทธิชัยหอมพวงษ์มาแก้ไขโดยแกะเอาภาพถ่ายของนายสิทธิชัยหอมพวงษ์ที่ปิดอยู่ในปกด้านในออกแล้วเอาภาพถ่ายของจำเลยปิดลงไปแทนนั้น แม้ภาพถ่ายจะไม่ใช่เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ก็ตาม แต่เมื่อนำไปปิดลงในหนังสือเดินทางดังกล่าว ย่อมทำให้ความหมายที่แท้จริงของหนังสือเดินทางเปลี่ยนแปลงไปว่าจำเลย คือ นายสิทธิชัยหอมพวงษ์และเป็นหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้แก่จำเลยโดยตรง ภาพถ่ายของจำเลยที่ไม่เป็นเอกสารจึงเกิดเป็นเอกสารหนังสือเดินทางของนายสิทธิชัยหอมพวงษ์ กลายเป็นหนังสือเดินทางของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการเมื่อจำเลยนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเดินทางออกไปและเข้ามาในราชการอาณาจักร ย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2546

คำสำคัญ

  • การปลอมเอกสารไม่จำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
  • ไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้
  • ความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญา
  • ความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม
  • ความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น
  • ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 225

สรุปย่อสั้น

การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้ จำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวง ต. ว่า จำเลยที่ 2 คือ ย. เจ้าของรถยนต์บรรทุกมีความประสงค์จะขายรถยนต์คันดังกล่าว ต. ตกลงรับซื้อไว้และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กัน โดยพวกของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ย. ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าว มอบให้ ต. ยึดถือไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจาก ต. และไม่ให้ ต. ใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืน ทำให้ ต. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 กับพวก จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้ ต. ยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย

ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยจำเลยที่ 2กับพวกเป็นผู้ปลอมเอกสารเอง ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวและความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548

คำสำคัญ

  • เอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา
  • การปลอมเอกสารไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
  • การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(7)

สรุปย่อสั้น

คำว่า “เอกสาร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน

จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558  

คำสำคัญ

  • ความผิดฐานปลอมเอกสาร
  • เจตนาให้คนอื่นหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารจริง
  • ต้องมีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขเอกสารให้แตกต่างไปจากเอกสารที่แท้จริง
  • การปลอมเอกสาร
  • ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
  • ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก, มาตรา 268 วรรคแรก

สรุปย่อสั้น

ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2481

คำสำคัญ

  • การที่ไม่มีหน้าที่ออกเอกสารแต่ออกเอกสารไม่มีความผิดฐานปลอมหนังสือ
  • ความผิดฐานปลอมหนังสือ

สรุปย่อสั้น

ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลทำใบสุทธิซึ่งอยู่ในหน้าที่ของตนโดยความเท็จไม่มีความผิดฐานปลอมหนังสือ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-ฆาตกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562

คำสำคัญ

  • ยิงปืนเพื่อข่มขู่
  • ความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่า
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญามาตรา 192 วรรคท้าย

สรุปย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561

คำสำคัญ

  • การยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความหึกเหิม
  • มีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
  • อ้างเหตุบันดาลโทสะ

สรุปย่อสั้น

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

คำสำคัญ

  • สำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นคู่อริ
  • ยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 61,ประมวลอาญา มาตรา 288, มาตรา 80

สรุปย่อสั้น

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2509

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ถือว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อผู้ตายแล้ว เพราะการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายก็เป็นการกระทำโดยจงใจทำร้ายผู้ตายโดยผิดกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว แม้จะไม่มีเจตนาฆ่าก็ได้ชื่อว่ากระทำละเมิด แต่การละเมิดนั้นถึงกับมีเจตนาจะฆ่าหรือทำให้ตายโดยไม่มีเจตนานั้นเป็นเรื่องของเจตนาในการทำผิดทางอาญา เจตนากระทำกับจงใจกระทำจะตีความอนุโลมอย่างเดียวกันมิได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561

คำสำคัญ

  • ประจักษ์พยาน
  • วัตถุพยาน
  • ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐาน

สรุปย่อสั้น

คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-ขโมย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552

คำสำคัญ

  • เคลื่อนย้ายทรัพย์ออกจากจุดที่ทรัพย์นั้นอยู่
  • พาทรัพย์เคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต

สรุปย่อสั้น

จำเลยยังมิได้พาเตาอบไฟฟ้าของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าของผู้เสียหาย แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2514

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

ผู้เสียหายกับคณะกลองยาวไปวัดในพิธีอุปสมบท คณะกลองยาวเล่นกลองยาวบนศาลาอยู่กับผู้เสียหายและญาติ ต่อมาคณะกลองยาวก็ลงจากศาลาประโคมกลองยาวนำหน้านาค โดยมีผู้เสียหายเดินตามไปผู้เสียหายไปได้ 2 เส้น รู้สึกตัวว่าสายสร้อยข้อมือทองคำหายจึงกลับขึ้นไปหาบนศาลา ปรากฏว่า ส. อายุไม่เกิน 7 ปี เก็บสร้อยนั้นได้บนศาลาแล้วเอาไปให้จำเลยที่ 2 อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวจำเลยที่ 2 เอาไปให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาที่ข้างศาลาในเวลากระชั้นชิดกัน จำเลยที่ 1 เอาสร้อยห่อพกออกจากวัดไปทันที เมื่อผู้เสียหายไปสอบถาม จำเลยที่ 1ว่าไม่รู้เห็น พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าสร้อยนั้นยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย ไม่ใช่ทรัพย์ตกหาย จำเลยที่ 1 น่าจะทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของพวกที่มาในคณะกลองยาวและเจ้าของจะติดตามเอาคืน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วน ส. และจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  216/2509        

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยยอมให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีมีสิ่งตอบแทน แต่ผู้เสียหายผิดข้อตกลงจำเลยไม่พอใจ จึงได้ทำร้ายผู้เสียหายแล้วเอาปืนผู้เสียหายไปทิ้งที่ปรักน้ำกลางทุ่งนาเพราะกลัวผู้เสียหายจะยิงเอาการเอาปืนไปทิ้งน้ำโดยไม่นำเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์ การเอาปืนของผู้เสียหายไปทิ้งจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนไฟฉายนั้นผู้เสียหายก็ให้จำเลยไปส่องทาง จำเลยเอาไปไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2502

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยเก็บกระเป๋าใส่เงินของเจ้าทรัพย์ซึ่งเหน็บไว้ที่เอวแล้วเลื่อนหลุดไปจากเอวในขณะนั่งดูภาพยนต์อยู่ใกล้เคียงกันในโรงภาพยนต์นั้นถือว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความยึดถือของเจ้าทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพของตกของหายเมื่อจำเลยเอาไปเสีย ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-ยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10067/2558

คำสำคัญ

  • เจ้าพนักงานที่มีอำนาจ
  • พฤติการณ์มีเหตุสำคัญหากรอเอาหมายค้นคนร้ายจะหลบหนีไปได้
  • อำนาจเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น
  • พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519มาตรา 14, มาตรา 14 ตรี

สรุปย่อสั้น

การที่พันตำรวจโท ก. แสดงบัตร ป.ป.ส. ต่อจำเลยก่อนทำการค้น แสดงว่าพันตำรวจโท ก. แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และตามพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จำเลยจะหลบหนีไป ทั้งทรัพย์สินในบ้านเกิดเหตุซึ่งมีไว้เป็นความผิดจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม พันตำรวจโท ก. กับพวกจึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 14 ตรี

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

คำสำคัญ

  • คนร้ายได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการจับกุม
  • คนร้ายให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษ
  • เหตุควรได้รับการลดโทษ
  • ศาลจะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของโทษนั้นได้
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78
  • พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

สรุปย่อสั้น

หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลาง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นไม่ และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่ง ป.อ. มาตรา 78 ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2560

คำสำคัญ

  • การขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 245 วรรคสอง
  • พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16
  • พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

สรุปย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้ฎีกาของจำเลยจะขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา ก็หาก่อให้เกิดสิทธิในการยื่นฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2554

คำสำคัญ

  • การริบทรัพย์สิน
  • คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
  • พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, มาตรา 31
  • พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง, ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

คดีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับคดีไว้พิจารณาพร้อมกับฎีกาภายในกำหนด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาผู้คัดค้านมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2548 

คำสำคัญ

  • การสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด
  • การกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น
  • การกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว
  • ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

สรุปย่อสั้น

จำเลยทั้งสองสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ถึง 6,000 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยเด็ดขาดที่ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ส่วนความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไปให้แก่ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบเฮโรอีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนของกลางระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเฮโรอีนของกลางไปยังบริษัทบริษัทหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้แก่ อ. เพื่อจะจัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-ยักยอก/ฉ้อโกง

พิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2558

คำสำคัญ

  • เบียดบังเอาเงินของผู้อื่นโดยทุจริต
  • ยักยอกเงิน
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2)

สรุปย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย มีหน้าที่รับเงินผู้เสียหายไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายหลายครั้ง แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายรวม 260,597.80 บาท ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต แม้ระยะเวลาที่จำเลยยักยอกเงินในแต่ละครั้งจะไม่ห่างกันมาก แต่การที่จำเลยยักยอกเงินผู้เสียหายในแต่ละครั้งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

หนังสือรับสภาพหนี้มีเนื้อความว่าจำเลยเป็นหนี้เนื่องจากยักยอกเงินของผู้เสียหายไป โดยจำเลยตกลงจะผ่อนชำระคืนให้เป็นงวดๆ ซึ่งมีผลผูกพันกันในทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่ง เมื่อไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560

คำสำคัญ

  • การกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
  • เข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน
  • สัญญาต่างตอบแทน
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, มาตรา 989 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560

คำสำคัญ

  • ผลโดยตรงจากการที่โดนหลอกลวง
  • องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
  • ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 225

สรุปย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่11858/2557

คำสำคัญ

  • พนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้
  • ห้ามไม่ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
  • การสอบสวนต้องกทำโดยเจ้าพนักงานที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
  • พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้
  • ฐานร่วมกันยักยอกเป็นความผิดกรรมเดียว
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28, มาตรา 120, มาตรา 2 (6), มาตรา 18, มาตรา 19, มาตรา 123 และมาตรา 124
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83

สรุปย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-พยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2548

คำสำคัญ

  • พยานบุคคล
  • พยานหลักฐาน
  • พยานคนกลาง

สรุปย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองต่างเบิกความยันกันปากต่อปากว่า จำเลยทั้งสองซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์ที่ 1 ไปขาย ยังไม่ได้ชำระเงิน ส่วนจำเลยทั้งสองยืนยันว่า ซื้อไปจริงแต่ชำระเงินแล้ว แต่โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่โจทก์เป็นลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยทั้งสองเป็นลูกบ้านรวมทั้งอดีตกำนันที่ทั้งสองฝ่ายเป็นลูกบ้านเบิกความในทำนองเดียวกันว่าทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันและจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าเสื้อผ้าที่ซื้อไปจากโจทก์ที่ 1 จริง โดยมีบันทึกถ้อยคำเป็นหลักฐาน และโจทก์ยังมีพนักงานสอบสวนที่ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง จำเลยที่ 2 จะนำที่ดินมาตีใช้หนี้ แต่ที่สุดตกลงกันไม่ได้ จึงมีบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แม้เอกสารทั้งสองฉบับจำเลยทั้งสองจะไม่ยอมลงลายมือชื่อจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่ก็ฟังประกอบคำเบิกความพยานของโจทก์ที่ 1 ที่ยืนยันว่ามีการเจรจากันจริง โดยพยานของโจทก์ที่ 1 ต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและอดีตเจ้าพนักงานของรัฐ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือในหมู่บ้านที่ทั้งสองฝ่ายอยู่อาศัยทั้งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่ตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่า ได้ชำระค่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้โจทก์ที่ 1 หมดแล้วไม่ได้ค้างชำระ โดยไม่มีพยานอื่นใดมาสนับสนุน แม้โจทก์ที่ 1 จะจำไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับซื้อเสื้อผ้าไปวันที่เท่าใดและมีรายการเสื้อผ้าใดบ้าง แต่จำเลยทั้งสองรับว่าการรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายมิได้ทำหลักฐานไว้ การที่โจทก์ที่ 1 จำไม่ได้จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันมีเป็นจำนวนมาก โจทก์ที่ 1 อาจหลงลืมได้ พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2547

คำสำคัญ

  • การอ้างเอกสารเป็นพยาน
  • ศาลต้องพิจารณาและมีอำนาจรับฟังจากพยานหลักฐานต่างหาก
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125

สรุปย่อสั้น

แม้คู่ความฝ่ายหนึ่งจะมิได้คัดค้านการอ้างเอกสารเป็นพยานของคู่ความอีกฝ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ก็เพียงแต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการมีอยู่ และความแท้จริงของเอกสารนั้นเมื่อพ้นกำหนดเวลาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ศาลต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารนั้น เพราะข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ศาลต้องพิจารณาและมีอำนาจรับฟังจากพยานหลักฐานทั้งปวงอีกชั้นหนึ่งต่างหาก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551

คำสำคัญ

  • เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับต้องแจ้งสิทธิ
  • ห้ามนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน
  • การแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วน
  • บันทึกการจับกุมไม่สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้
  • พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 วรรคที่สอง, 84 วรรคหนึ่ง, มาตรา 84 วรรคสี่, มาตรา 226

สรุปย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้นถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2508

คำสำคัญ

  • การตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง
  • แสดงพยานหลักฐานเท็จ
  • ประจักษ์พยาน
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 3

สรุปย่อสั้น

(1) เมื่อปรากฏว่า สัญญากู้เงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธินั้นมีเรื่องที่แท้จริงรวมกันอยู่ 2 เรื่อง คือมีหนังสือสัญญากู้เงิน 1 มีบันทึกการชำระหนี้เงินกู้รายนี้บางส่วน 1 แต่จำเลยได้ลบบันทึกดังกล่าวออกเสียเอกสารสิทธินั้นก็จะมีหนังสือสัญญาอันเป็นเอกสารที่แท้จริงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว การที่จำเลยลบบันทึกนั้นออกก็เพื่อให้โจทก์หรือศาลหลงเชื่อว่าเอกสารสิทธิมีหนังสือสัญญากู้เงินเพียงเรื่องเดียวซึ่งแสดงว่าไม่เคยผ่อนชำระหนี้กันเลยการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง เป็นผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264

(2) แม้จำเลยจะยังมิได้นำสืบ แต่ได้แสดงพยานหลักฐานเท็จต่อศาลแล้ว โดยส่งเอกสาร (หมาย จ.1) ซึ่งเดิมมีอยู่ 2 หลักฐาน แต่จำเลยส่งแสดงว่ามีหลักฐานเดียวย่อมเป็นการแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลตามมาตรา 180 แล้ว

(3) การปลอมเอกสารซึ่งอยู่ในความยึดถือของจำเลยนั้นย่อมมีโอกาสทำได้ในที่ลับ เป็นการยากที่จะมีประจักษ์พยาน ฉะนั้น พยานประพฤติเหตุบ่งว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารไม่ผิดตัว ก็ฟังลงโทษจำเลยได้

(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำพยานสืบแก้ฟ้องโจทก์แล้วยังอ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อตรวจพิสูจน์เอกสารที่โจทก์อ้างไว้ว่ามีรอยลอกอากรแสตมป์ และมีรอยลบข้อความบางประการออกหรือไม่ซึ่งข้อความที่จะนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญนี้พยานจำเลยไม่ได้เบิกความมาก่อนเลยและโจทก์ก็ไม่รู้ว่าจำเลยจะนำสืบประเด็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจให้โจทก์นำสืบแก้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 3

หมายเหตุ หมายเลข (1) วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2508

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2539

คำสำคัญ

  • แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ
  • การบอกเลิกสัญญาที่เข้าเงื่อนไขในป.พ.พ. มาตรา 388 ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
  • ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงได้
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 388, มาตรา 383

สรุปย่อสั้น

แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องถอดข้อความหรือจะต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นที่บันทึกในแถบบันทึกเสียงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบก็ชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ไว้แม้จำเลยจะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของพยานจำเลยและเมื่อเปิดฟังแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความตรงตามคำถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อหรือดัดแปลงลอกเลียนเสียงได้ไม่ยากนัก สัญญาตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด และสัญญามีอายุ3 ปี เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับจ้างจะมีรายได้เป็นรายปีเริ่มตั้งแต่ปีแรก ส่วนการกำหนดวิธีการที่จะทำให้มีรายได้เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเมื่อไม่ดำเนินการก็ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสัญญาดังกล่าวเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 การบอกเลิกสัญญาจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์แสดงภาพยนตร์ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยการแสดงภาพยนตร์โจทก์สามารถกระทำได้เพราะไม่มีข้อห้ามของสัญญา แต่การที่โจทก์ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นข้อห้ามของสัญญาและกำหนดเบี้ยปรับไว้ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนโจทก์ต้องชดใช้เบี้ยปรับให้จำเลยเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีศาลฎีกาจึงหักหนี้กันโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คดีอาญา-หมายจับ/หมายค้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2504

คำสำคัญ

  • ออกหมายจับจำเลยแต่จำเลยไม่มา
  • จำเลยยื่นฎีกาเกินหนึ่งเดือนนับแต่วันศาลอ่านคำพิพากษา
  • การที่จำเลยมาหลังจากวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา ไม่ทำให้อายุฎีกายืด

สรุปย่อสั้น

ออกหมายจับจำเลยเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เกินเดือนแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลจึงอ่านคำพิพากษานั้นให้โจทก์ฟังถือว่าได้อ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยยื่นฎีกาเกินหนึ่งเดือนนับแต่วันศาลอ่านดังกล่าวฎีกาของจำเลยย่อมขาดอายุฎีกา แม้ว่าศาลจะได้อ่านคำพิพากษานั้นให้จำเลยฟังอีก เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้วหลังจากวันอ่านดังกล่าวข้างต้น 5 เดือนเศษ ก็เป็นแต่เพียงให้จำเลยได้ทราบคำพิพากษาตามที่จำเลยต้องการเท่านั้นหามีผลทำให้ยืดอายุฎีกาไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557

คำสำคัญ

  • การขอออกหมายจับ
  • ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ
  • ต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้าย
  • การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวัง
  • รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

สรุปย่อสั้น

การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

คำสำคัญ

  • การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน
  • ศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา 66, มาตรา 59/1,มาตรา 193

สรุปย่อสั้น

การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

คำสำคัญ

  • คำเบิกความขัดกับบันทึกการจับกุม
  • อำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น
  • ความผิดซึ่งหน้า
  • อำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับ
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 93, 78 (1)

สรุปย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำเบิกความของร้อยตำรวจเอก น. ขัดกับบันทึกการจับกุม แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2549

คำสำคัญ

  • ที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
  • กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7), 93, 78 (1), 80

สรุปย่อสั้น

หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด

ร้านที่เกิดเหตุเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมต่างๆ และแผ่นเกม ย่อมเป็นสถานที่ที่เชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปดูและเลือกซื้อสินค้าได้ นับเป็นที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ทำการตรวจค้น แผ่นซีดีเกมอยู่ในตะกร้าซึ่งอยู่ในตู้สามารถมองเห็นได้ โดยแผ่นซีดีเกมของกลางดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีลักษณะภายนอกของแผ่นซีดีของกลางต่างจากของโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นกรณีของการค้นในที่สาธารณสถานโดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าร้านที่เกิดเหตุมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ทั้งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยได้ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การค้นและจับจึงชอบด้วยกฎหมาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2543

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยโดยรับมรดกมาจาก ม. ถ.ล.และมล. ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย แม้ว่าจำเลยจะให้การยอมรับว่า ม. ถ. ล.และ มล. เคยมีสิทธิในที่ดินพิพาทมาก่อน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงว่าขณะฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเป็นคุณว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

โจทก์และจำเลยต่างอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองและการสละสิทธิครอบครองอันอยู่ในความรู้เห็นของ ม. ถ.ล.และมล. ซึ่งถึงแก่กรรมมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งเป็นเรื่องภายในหมู่ญาติซึ่งบุคคลภายนอกอาจไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยหรือไม่จำต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตลอดจนลักษณะแห่งการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทและพยานแวดล้อมเป็นสำคัญ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง มีพิรุธไม่น่ารับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสี่ยังครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยมี พ.ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่พิพาทและว. ซึ่งเคยเป็นกำนันท้องที่พิพาท และต่างมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าพยานมีโอกาสรู้เห็นถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดี ประกอบกับพยานมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีอยู่ในฐานะคนกลางมีน้ำหนักน่ารับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่า และเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยโจทก์มีสิทธิครอบครอง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

จัดการมรดก-ทายาทโดยธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2508

คำสำคัญ

  • ทายาทโดยธรรมตายก่อนเจ้ามรดก
  • ผู้รับมรดกแทนที่
  • การสละมรดก
  • คำสั่งของผู้ตาย
  • มารดาสละมรดกแทนผู้เยาว์

สรุปย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งตายก่อนเจ้ามรดก ส่วนมรดกที่ทายาทโดยธรรมจะได้รับย่อมตกทอดแก่ผู้สืบสันดานทุกคนของทายาทโดยธรรมนั้นในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ดังนั้น เมื่อทายาทโดยธรรมตาย มีผู้เอาชื่อผู้สืบสันดานคนหนึ่งใส่ลงในหน้าโฉนดเป็นผู้รับมรดกจึงหาทำให้ผู้สืบสันดานคนอื่นๆ เสียสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในที่ดินนั้นไปไม่

คำสั่งของผู้ตายให้ยกที่ดินให้แก่ใครคนหนึ่งนั้นมิใช่พินัยกรรมจึงหาลบล้างสิทธิของทายาทโดยธรรม หรือผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมนั้นไม่

การสละมรดกจะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

การที่มารดาจะสละมรดกแทนผู้เยาว์ได้ จะต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508

คำสำคัญ

  • ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท
  • ไม่มีทายาทโดยธรรม
  • พินัยกรรมมรดกตกทอดแก่แผ่นดิน
  • ทรัพย์สินอันมีเอกชนเป็นเจ้าของ

สรุปย่อสั้น

ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดินพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้วจึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผลพินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545

คำสำคัญ

  • ทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
  • บุตรชอบด้วยกฎหมาย
  • หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630,มาตรา 1629(4)

สรุปย่อสั้น

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548

คำสำคัญ

  • การสมรสที่ฝ่าฝืน
  • หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจะเป็นคนตัดสิน
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1458, มาตรา 1496,1629 วรรคสอง

สรุปย่อสั้น

บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้

ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2510

คำสำคัญ

  • ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แยกกันอยู่แต่ไม่ได้หย่าร้าง
  • ภรรยาไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยกันทำมาหากิน
  • ภรรยาเก่าไม่มีสิทธิในทรัพย์ส่วนที่เป็นของภรรยาใหม่

สรุปย่อสั้น

ผู้ตายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อน ต่อมาภริยาได้แยกร้างไปอยู่ต่างหากโดยมิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์ผู้ตายจึงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์กับผู้ตายได้ช่วยกันทำมาหากินโดยภริยาเก่ามิได้มาร่วมปะปนด้วย โจทก์ได้นำทรัพย์ของโจทก์มาให้ผู้ตายหาดอกผล และได้ทำการค้าขาย ช่วยผู้ตายเก็บค่าเช่าดังนี้ ถือได้ว่าผู้ตายและโจทก์ทำมาหาได้ร่วมกัน จึงเป็นเจ้าของร่วมและมีส่วนเท่ากัน เมื่อผู้ตายตายภรรยาเก่าจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์ส่วนที่เป็นของภรรยาใหม่แต่อย่างใด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search