คดีอาญา-ยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10067/2558

คำสำคัญ

  • เจ้าพนักงานที่มีอำนาจ
  • พฤติการณ์มีเหตุสำคัญหากรอเอาหมายค้นคนร้ายจะหลบหนีไปได้
  • อำนาจเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น
  • พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519มาตรา 14, มาตรา 14 ตรี

สรุปย่อสั้น

การที่พันตำรวจโท ก. แสดงบัตร ป.ป.ส. ต่อจำเลยก่อนทำการค้น แสดงว่าพันตำรวจโท ก. แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และตามพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จำเลยจะหลบหนีไป ทั้งทรัพย์สินในบ้านเกิดเหตุซึ่งมีไว้เป็นความผิดจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม พันตำรวจโท ก. กับพวกจึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 14 ตรี

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

คำสำคัญ

  • คนร้ายได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการจับกุม
  • คนร้ายให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษ
  • เหตุควรได้รับการลดโทษ
  • ศาลจะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของโทษนั้นได้
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78
  • พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

สรุปย่อสั้น

หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลาง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นไม่ และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่ง ป.อ. มาตรา 78 ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2560

คำสำคัญ

  • การขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 245 วรรคสอง
  • พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16
  • พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

สรุปย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้ฎีกาของจำเลยจะขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา ก็หาก่อให้เกิดสิทธิในการยื่นฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2554

คำสำคัญ

  • การริบทรัพย์สิน
  • คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
  • พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, มาตรา 31
  • พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง, ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

คดีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับคดีไว้พิจารณาพร้อมกับฎีกาภายในกำหนด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาผู้คัดค้านมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2548 

คำสำคัญ

  • การสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด
  • การกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น
  • การกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว
  • ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

สรุปย่อสั้น

จำเลยทั้งสองสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ถึง 6,000 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยเด็ดขาดที่ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ส่วนความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไปให้แก่ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบเฮโรอีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนของกลางระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเฮโรอีนของกลางไปยังบริษัทบริษัทหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้แก่ อ. เพื่อจะจัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *