คดีอาญา-ยักยอก/ฉ้อโกง

พิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2558

คำสำคัญ

  • เบียดบังเอาเงินของผู้อื่นโดยทุจริต
  • ยักยอกเงิน
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2)

สรุปย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย มีหน้าที่รับเงินผู้เสียหายไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายหลายครั้ง แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายรวม 260,597.80 บาท ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต แม้ระยะเวลาที่จำเลยยักยอกเงินในแต่ละครั้งจะไม่ห่างกันมาก แต่การที่จำเลยยักยอกเงินผู้เสียหายในแต่ละครั้งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

หนังสือรับสภาพหนี้มีเนื้อความว่าจำเลยเป็นหนี้เนื่องจากยักยอกเงินของผู้เสียหายไป โดยจำเลยตกลงจะผ่อนชำระคืนให้เป็นงวดๆ ซึ่งมีผลผูกพันกันในทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่ง เมื่อไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560

คำสำคัญ

  • การกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
  • เข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน
  • สัญญาต่างตอบแทน
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, มาตรา 989 วรรคหนึ่ง

สรุปย่อสั้น

มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560

คำสำคัญ

  • ผลโดยตรงจากการที่โดนหลอกลวง
  • องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
  • ข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 225

สรุปย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่11858/2557

คำสำคัญ

  • พนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้
  • ห้ามไม่ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
  • การสอบสวนต้องกทำโดยเจ้าพนักงานที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
  • พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้
  • ฐานร่วมกันยักยอกเป็นความผิดกรรมเดียว
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28, มาตรา 120, มาตรา 2 (6), มาตรา 18, มาตรา 19, มาตรา 123 และมาตรา 124
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83

สรุปย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *