คดีหย่า-สัญญาหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2544

ประเด็นสำคัญ

  • การตกลงว่าจะหย่ากัน หากยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าก็ยังถือว่าสมรสกันอยู่ สัญญาตกลงหย่านี้ สามารถบอกล้างได้ในขณะที่สมรสหรือหลังจากจดทะเยียนหย่าก็ได้
  • ถ้าข้อตกลงในสัญญาตกลงหย่านั้น มีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน สามารถบอกล้างในเวลาที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้

สรุปย่อสั้น

บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วยจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2533

ประเด็นสำคัญ

  • การทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจย่อมมีผลใช้บังคับกันได้
  • การหย่าโดยทำหนังสือหย่ากันเองมีผลใช้บังคับกันได้แค่เฉพาะระหว่างคู่สมรสสองฝ่ายเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างกับบุคคลภายนอกให้บุคคลภายนอกที่สุจริตเสียสิทธิได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้ว
  • เมื่อทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะถือว่าทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไปร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนการหย่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมไปร้องขอต่อนายทะเบียน อีกฝ่ายสามารถฟ้องให้ศาลสั่งหย่าขาดโดยไม่มีเหตุหย่าได้

สรุปย่อสั้น

เมื่อกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์จำเลยยินยอมให้คู่สมรสหย่าโดยความยินยอมได้ การที่โจทก์จำเลยทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจย่อมมีผลใช้บังคับกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514แม้โจทก์กับจำเลยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักนายทะเบียนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียน ณ ที่ทำการสถานฑูตหรือกงสุลไทย ก็ตาม แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่าแล้วจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนหย่า โจทก์จึงต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันเพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนเพื่อให้การหย่าสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว คำพิพากษาของศาลที่โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันมีสภาพใช้บังคับได้ ส่วนจะมีผลใช้บังคับในประเทศอังกฤษหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่มิใช่เป็นการขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกราชอาณาจักรเพราะศาลมิได้บังคับให้นายทะเบียนสำนักงานทะเบียน ณ ประเทศอังกฤษ ทำการจดทะเบียนหย่าให้แก่โจทก์จำเลยแต่ประการใด แม้โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศตามแบบของต่างประเทศ หากโจทก์จำเลยประสงค์จะจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว เมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้วการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 และสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่ากับทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไปร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนการหย่าตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมไปร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ได้ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนหย่าแต่ไม่ยอมปฏิบัติ เท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าได้.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

ประเด็นสำคัญ

  • การตกลงหย่าและการจดทะเบียนหย่าเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงโดยทั้งสองฝ่ายรู้ถึงเจตนาลวงนั้น เหตุนี้จะไม่ผูกพันบุคคลภายนอก

สรุปย่อสั้น

หนังสือข้อตกลงหย่าและการจดทะเบียนหย่า ผู้ร้องกับจำเลยแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างกันกระทำขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการกระทำขึ้นโดยสมยอมจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจึงเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันผู้ร้องไม่มีอำนาจมาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *