จัดการมรดก-พินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10809/2559

คำสำคัญ

  • ความสมบูรณ์ของพินัยกรรม
  • แบ่งทรัพย์มรดก
  • เจตนาของผู้ตาย
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์ 1608

สรุปย่อสั้น

ข้อความในพินัยกรรมส่วนที่เพิ่มเติมตอนท้ายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับ เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น ทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย

แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความได้สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้ ส. เป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2530

คำสำคัญ

  • พินัยกรรมแสดงเจตนาเผื่อตาย
  • อายุความ

สรุปย่อสั้น

พินัยกรรมมีข้อความสำคัญว่า ‘ฯลฯ ข้อ 1 เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปภายหน้าข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 2. ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 10197…… ตั้งอยู่ตำบลวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ ส.(โจทก์) แต่ผู้เดียว ข้อ 3. ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้ ส.(โจทก์)เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมฉบับนี้และให้เป็นผู้จัดการศพของข้าพเจ้าด้วย’ ข้อความในพินัยกรรมข้อ 1. หมายความว่า เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตกเป็นของโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว รวมทั้งทรัพย์สินตามที่ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมข้อ 2 ด้วย ดังนั้นที่ดินมรดกจึงตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม

ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประเด็นอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์และเป็นอันยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นอ้างหรือโต้แย้งในชั้นฎีกาไม่ได้

ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากโอนที่ดินไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกาจำเลยได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ก็ไม่อาจนำที่ดินนี้ออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้นั้นได้ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน500,000 บาท ตามส่วนของราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ย.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2541 

คำสำคัญ

  • ผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดก
  • ข้อกำหนดในพินัยกรรม
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718

สรุปย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกส่วนหนึ่ง ฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง ข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับจึงหาได้ขัดกันและมีผลทำให้ผู้ร้องถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกไม่ ผู้ร้องยังคงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้น พินัยกรรมของผู้ตายทั้งสองฉบับย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายทั้งฉบับที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อเจตนาของผู้ตายมีความประสงค์ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้แยกจากกันและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718จึงให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับที่สอง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550

คำสำคัญ

  • พินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สิน
  • ผู้ถูกตัดไม่ให้รับมรดก
  • การแบ่งปันทรัพย์มรดก
  • การมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคสอง, มาตรา 1719, มาตรา 1713, มาตรา 1722,มาตรา 150, มาตรา 1575

สรุปย่อสั้น

ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532

คำสำคัญ

  • พินัยกรรมเขียนถึงทรัพย์ที่จะได้มาในอนาคตได้
  • ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

สรุปย่อสั้น

การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *