จัดการมรดก-พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553

คำสำคัญ

  • พินัยกรรมปลอม
  • พินัยกรรมเป็นโมฆะ
  • ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • พยานลงลายมือชื่อ
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1705

สรุปย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2500

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

วัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเจ้าอาวาสมีสิทธิฟ้องคดีในนามของวัดได้ และมีอำนาจมอบให้ผู้อื่นเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งแทนตนได้

พยานลงชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรม ต่อมาอีก 3 วันผู้ทำพินัยกรรมจึงได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนต่อหน้าพยานชุดเดิมพินัยกรรมนั้นถูกต้องตาม มาตรา 1656

โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นของวัดซึ่งแต่แรกตกอยู่ที่เจ้าอาวาสองค์เก่าซึ่งมรณภาพไปแล้ว และอ้างว่าบัดนี้จำเลยยึดถือไว้โดยไม่มีอำนาจ คดีย่อมไม่มีปัญหาเรื่องอายุความมรดก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2512

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

บันทึกการแบ่งทรัพย์ที่เจ้ามรดกทำขึ้นมิได้ลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดก. จึงไม่มีผลเป็นพินัยกรรม.แม้จะถือว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมด้วยวาจาต่อหน้า ค.และอ. เพราะเจ้ามรดกไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้. แต่ ค.และอ.ก็มิได้ไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอและแจ้งข้อความที่ผู้ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ ตลอดจนวันเดือนปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม และพฤติการณ์พิเศษ บันทึกการแบ่งทรัพย์ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลเป็นพินัยกรรม. จำเลยซึ่งมิได้เป็นภรรยาเจ้ามรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย.ไม่มีสิทธิอ้างเอาประโยชน์จากบันทึกนี้ได้ และไม่มีสิทธิรับมรดก.

เจ้ามรดกยังไม่ได้ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลย. การให้ย่อมยังไม่สมบูรณ์.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2529

คำสำคัญ

  • พินัยกรรมแบบธรรมดา
  • พยานในพินัยกรรม
  • พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้
  • พยานในพินัยกรรม
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9, มาตรา 1665, มาตรา 1656

สรุปย่อสั้น

พินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 และ 1666 พินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้มีพยานรับรองพินัยกรรมสองคนคนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมืออีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและมีพ.ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่เมื่อปรากฏว่าพ.อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมมาแต่ต้นจนกระทั่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้วพ.จึงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของพ.ก็ถือได้ว่าพ.เป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่งเพราะพยานในพินัยกรรมไม่จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อเป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยานก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมแล้วพินัยกรรมจึงสมบูรณ์(อ้างฎีกาที่ 363/2492 ) พยานที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมขณะทำพินัยกรรมไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกหนหนึ่งเพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9, 1665 และตามมาตรา 1656 (อ้างฎีกาที่ 111/2497) ฎีกาโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีลายมือชื่อผู้เขียนกำกับไว้และระบุด้วยว่าเป็นผู้เขียนประเด็นดังกล่าวน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยลึกซึ้งเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างใดเพียงแต่เสนอความเห็นว่าน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ลึกซึ้งเท่านั้นเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2529

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนตัวของตนทั้งหมดให้แก่ผู้อื่นซึ่งรวมทั้งทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นสินสมรสรวมอยู่ด้วยผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกมีสิทธิในสินสมรสกึ่งหนึ่งซึ่งเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดไม่ได้แม้คดีจะไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินตามพินัยกรรมจะมีสินสมรสเป็นส่วนของผู้ร้องรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ดังนั้นผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้. ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกโดยอาศัยข้ออ้างว่ามีส่วนได้รับมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรกแต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกทั้งฉบับทำให้ผู้คัดค้านไม่ได้รับทรัพย์มรดกเลยทั้งภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีบุตรกับเจ้ามรดกก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้อยู่แล้วกรณีถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *