อสังหาริมทรัพย์-เจ้าของกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2535

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีอำนาจฟ้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทางพิพาท โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน ศาลชั้นต้นจึงยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่โจทก์นำมูลคดีเดียวกันมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2540

คำสำคัญ

  • การได้กรรมสิทธิ์จากสัญญาซื้อขาย
  • โอนกรรมสิทธิ์

สรุปย่อสั้น

ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำต้องเป็นเจ้าของที่ดินในขณะทำสัญญาก็ได้เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงหากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกันไว้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้วฉะนั้นการที่จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินในวันนัดพร้อมกับส. ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและได้แสดงเจตนาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาแต่โจทก์เกี่ยงให้จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์จากส.ก่อนแล้วจัดการโอนให้แก่โจทก์จึงไม่อาจตกลงกันได้กรณีเช่นนี้แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในวันนับโอนก็จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2553

คำสำคัญ

  • ส่วนควบของที่ดิน
  • การโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดิน
  • การกระทำให้ทรัพย์สินเปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่น

สรุปย่อสั้น

การทำสวนยางพาราเป็นกิจการอย่างหนึ่งของโจทก์ และโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทบางแปลงทำสวนยางพารา ดังนี้ ต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ดแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ มีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน ถือได้ว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีด้วย ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขาย อันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (2) หากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2)

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2549

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกแก่ผู้ซื้อต่อเมื่อชำระราคาเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนแล้วจึงถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ซึ่งกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ จนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วน ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์ในภายหน้ากันนั้น ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติการเป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว ผู้ขายจึงไม่จำต้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอยู่ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระราคาให้แก่โจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546

คำสำคัญ

  • การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์นที่ดิน
  • ผู้ซื้อรับไปเพียงสิทธิของผู้ขาย
  • อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373

สรุปย่อสั้น

การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ แต่มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจึงไม่เกินคำขอ

โฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับแก่ผู้ที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *