การสมรส-ค่าเลี้ยงดูคู่สมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

คำสำคัญ

  • การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสตามฐานะและความสามารถ
  • ฟ้องหย่า
  • การอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่น
  • การสมัครใจแยกกันอยู่
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1461 วรรคที่สอง, มาตรา 1598/38, 1516 (6)

สรุปย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า

หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

คำสำคัญ

  • คำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
  • ถอนอำนาจปกครอง
  • แต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครอง
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/39 วรรคที่หนึ่ง, มาตรา 1521, มาตรา 1566 (5)

สรุปย่อสั้น

การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์

ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้

ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5627/2530

คำสำคัญ

  • การตกลงหย่า
  • เหตุหย่า
  • สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกัน

สรุปย่อสั้น

ในคดีหย่า แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณาแต่การที่ จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่า มีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์ หรือไม่เมื่อโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกันอยู่นั้นฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริต ชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย เมื่อโจทก์ จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ชั่วคราวโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอโจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลย มาตลอดและอยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้จึงมี หน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2520

คำสำคัญ

  • สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน
  • ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา1453

สรุปย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1453 สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน ดังนั้น เมื่อสามีโจทก์ถูกจำเลยยิงตายโดยละเมิด จำเลยจึงต้องชดใช้ที่โจทก์ขาดไร้อุปการะจากสามี และแม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้แน่นอนว่าค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด ศาลก็กำหนดให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด

โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และได้ยื่นคำขอต่อศาลขอว่าความอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถาได้โดยไม่จำต้องฟังคำคัดค้านของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนเพราะในกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องระหว่างศาลกับคู่ความที่ร้องขอ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *