คดีอาญา-พยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2548

คำสำคัญ

  • พยานบุคคล
  • พยานหลักฐาน
  • พยานคนกลาง

สรุปย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองต่างเบิกความยันกันปากต่อปากว่า จำเลยทั้งสองซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์ที่ 1 ไปขาย ยังไม่ได้ชำระเงิน ส่วนจำเลยทั้งสองยืนยันว่า ซื้อไปจริงแต่ชำระเงินแล้ว แต่โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่โจทก์เป็นลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยทั้งสองเป็นลูกบ้านรวมทั้งอดีตกำนันที่ทั้งสองฝ่ายเป็นลูกบ้านเบิกความในทำนองเดียวกันว่าทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันและจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าเสื้อผ้าที่ซื้อไปจากโจทก์ที่ 1 จริง โดยมีบันทึกถ้อยคำเป็นหลักฐาน และโจทก์ยังมีพนักงานสอบสวนที่ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง จำเลยที่ 2 จะนำที่ดินมาตีใช้หนี้ แต่ที่สุดตกลงกันไม่ได้ จึงมีบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แม้เอกสารทั้งสองฉบับจำเลยทั้งสองจะไม่ยอมลงลายมือชื่อจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่ก็ฟังประกอบคำเบิกความพยานของโจทก์ที่ 1 ที่ยืนยันว่ามีการเจรจากันจริง โดยพยานของโจทก์ที่ 1 ต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและอดีตเจ้าพนักงานของรัฐ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือในหมู่บ้านที่ทั้งสองฝ่ายอยู่อาศัยทั้งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่ตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่า ได้ชำระค่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้โจทก์ที่ 1 หมดแล้วไม่ได้ค้างชำระ โดยไม่มีพยานอื่นใดมาสนับสนุน แม้โจทก์ที่ 1 จะจำไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับซื้อเสื้อผ้าไปวันที่เท่าใดและมีรายการเสื้อผ้าใดบ้าง แต่จำเลยทั้งสองรับว่าการรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายมิได้ทำหลักฐานไว้ การที่โจทก์ที่ 1 จำไม่ได้จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันมีเป็นจำนวนมาก โจทก์ที่ 1 อาจหลงลืมได้ พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2547

คำสำคัญ

  • การอ้างเอกสารเป็นพยาน
  • ศาลต้องพิจารณาและมีอำนาจรับฟังจากพยานหลักฐานต่างหาก
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125

สรุปย่อสั้น

แม้คู่ความฝ่ายหนึ่งจะมิได้คัดค้านการอ้างเอกสารเป็นพยานของคู่ความอีกฝ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ก็เพียงแต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการมีอยู่ และความแท้จริงของเอกสารนั้นเมื่อพ้นกำหนดเวลาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ศาลต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารนั้น เพราะข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ศาลต้องพิจารณาและมีอำนาจรับฟังจากพยานหลักฐานทั้งปวงอีกชั้นหนึ่งต่างหาก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551

คำสำคัญ

  • เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับต้องแจ้งสิทธิ
  • ห้ามนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน
  • การแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วน
  • บันทึกการจับกุมไม่สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้
  • พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 วรรคที่สอง, 84 วรรคหนึ่ง, มาตรา 84 วรรคสี่, มาตรา 226

สรุปย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้นถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2508

คำสำคัญ

  • การตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง
  • แสดงพยานหลักฐานเท็จ
  • ประจักษ์พยาน
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 3

สรุปย่อสั้น

(1) เมื่อปรากฏว่า สัญญากู้เงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธินั้นมีเรื่องที่แท้จริงรวมกันอยู่ 2 เรื่อง คือมีหนังสือสัญญากู้เงิน 1 มีบันทึกการชำระหนี้เงินกู้รายนี้บางส่วน 1 แต่จำเลยได้ลบบันทึกดังกล่าวออกเสียเอกสารสิทธินั้นก็จะมีหนังสือสัญญาอันเป็นเอกสารที่แท้จริงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว การที่จำเลยลบบันทึกนั้นออกก็เพื่อให้โจทก์หรือศาลหลงเชื่อว่าเอกสารสิทธิมีหนังสือสัญญากู้เงินเพียงเรื่องเดียวซึ่งแสดงว่าไม่เคยผ่อนชำระหนี้กันเลยการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง เป็นผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264

(2) แม้จำเลยจะยังมิได้นำสืบ แต่ได้แสดงพยานหลักฐานเท็จต่อศาลแล้ว โดยส่งเอกสาร (หมาย จ.1) ซึ่งเดิมมีอยู่ 2 หลักฐาน แต่จำเลยส่งแสดงว่ามีหลักฐานเดียวย่อมเป็นการแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลตามมาตรา 180 แล้ว

(3) การปลอมเอกสารซึ่งอยู่ในความยึดถือของจำเลยนั้นย่อมมีโอกาสทำได้ในที่ลับ เป็นการยากที่จะมีประจักษ์พยาน ฉะนั้น พยานประพฤติเหตุบ่งว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารไม่ผิดตัว ก็ฟังลงโทษจำเลยได้

(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำพยานสืบแก้ฟ้องโจทก์แล้วยังอ้างผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อตรวจพิสูจน์เอกสารที่โจทก์อ้างไว้ว่ามีรอยลอกอากรแสตมป์ และมีรอยลบข้อความบางประการออกหรือไม่ซึ่งข้อความที่จะนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญนี้พยานจำเลยไม่ได้เบิกความมาก่อนเลยและโจทก์ก็ไม่รู้ว่าจำเลยจะนำสืบประเด็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจให้โจทก์นำสืบแก้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 3

หมายเหตุ หมายเลข (1) วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2508

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2539

คำสำคัญ

  • แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ
  • การบอกเลิกสัญญาที่เข้าเงื่อนไขในป.พ.พ. มาตรา 388 ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
  • ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงได้
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 388, มาตรา 383

สรุปย่อสั้น

แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องถอดข้อความหรือจะต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นที่บันทึกในแถบบันทึกเสียงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบก็ชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ไว้แม้จำเลยจะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของพยานจำเลยและเมื่อเปิดฟังแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความตรงตามคำถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อหรือดัดแปลงลอกเลียนเสียงได้ไม่ยากนัก สัญญาตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด และสัญญามีอายุ3 ปี เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับจ้างจะมีรายได้เป็นรายปีเริ่มตั้งแต่ปีแรก ส่วนการกำหนดวิธีการที่จะทำให้มีรายได้เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเมื่อไม่ดำเนินการก็ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสัญญาดังกล่าวเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 การบอกเลิกสัญญาจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์แสดงภาพยนตร์ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยการแสดงภาพยนตร์โจทก์สามารถกระทำได้เพราะไม่มีข้อห้ามของสัญญา แต่การที่โจทก์ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นข้อห้ามของสัญญาและกำหนดเบี้ยปรับไว้ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนโจทก์ต้องชดใช้เบี้ยปรับให้จำเลยเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีศาลฎีกาจึงหักหนี้กันโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้อง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *