คดีอาญา-หมายจับ/หมายค้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2504

คำสำคัญ

  • ออกหมายจับจำเลยแต่จำเลยไม่มา
  • จำเลยยื่นฎีกาเกินหนึ่งเดือนนับแต่วันศาลอ่านคำพิพากษา
  • การที่จำเลยมาหลังจากวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา ไม่ทำให้อายุฎีกายืด

สรุปย่อสั้น

ออกหมายจับจำเลยเพื่อให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เกินเดือนแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลจึงอ่านคำพิพากษานั้นให้โจทก์ฟังถือว่าได้อ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยยื่นฎีกาเกินหนึ่งเดือนนับแต่วันศาลอ่านดังกล่าวฎีกาของจำเลยย่อมขาดอายุฎีกา แม้ว่าศาลจะได้อ่านคำพิพากษานั้นให้จำเลยฟังอีก เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้วหลังจากวันอ่านดังกล่าวข้างต้น 5 เดือนเศษ ก็เป็นแต่เพียงให้จำเลยได้ทราบคำพิพากษาตามที่จำเลยต้องการเท่านั้นหามีผลทำให้ยืดอายุฎีกาไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557

คำสำคัญ

  • การขอออกหมายจับ
  • ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ
  • ต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้าย
  • การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวัง
  • รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

สรุปย่อสั้น

การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

คำสำคัญ

  • การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน
  • ศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา 66, มาตรา 59/1,มาตรา 193

สรุปย่อสั้น

การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

คำสำคัญ

  • คำเบิกความขัดกับบันทึกการจับกุม
  • อำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น
  • ความผิดซึ่งหน้า
  • อำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับ
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 93, 78 (1)

สรุปย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำเบิกความของร้อยตำรวจเอก น. ขัดกับบันทึกการจับกุม แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2549

คำสำคัญ

  • ที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
  • กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น
  • ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7), 93, 78 (1), 80

สรุปย่อสั้น

หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด

ร้านที่เกิดเหตุเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมต่างๆ และแผ่นเกม ย่อมเป็นสถานที่ที่เชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปดูและเลือกซื้อสินค้าได้ นับเป็นที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ทำการตรวจค้น แผ่นซีดีเกมอยู่ในตะกร้าซึ่งอยู่ในตู้สามารถมองเห็นได้ โดยแผ่นซีดีเกมของกลางดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีลักษณะภายนอกของแผ่นซีดีของกลางต่างจากของโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นกรณีของการค้นในที่สาธารณสถานโดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าร้านที่เกิดเหตุมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ทั้งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยได้ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การค้นและจับจึงชอบด้วยกฎหมาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2543

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยโดยรับมรดกมาจาก ม. ถ.ล.และมล. ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย แม้ว่าจำเลยจะให้การยอมรับว่า ม. ถ. ล.และ มล. เคยมีสิทธิในที่ดินพิพาทมาก่อน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงว่าขณะฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเป็นคุณว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

โจทก์และจำเลยต่างอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองและการสละสิทธิครอบครองอันอยู่ในความรู้เห็นของ ม. ถ.ล.และมล. ซึ่งถึงแก่กรรมมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งเป็นเรื่องภายในหมู่ญาติซึ่งบุคคลภายนอกอาจไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยหรือไม่จำต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตลอดจนลักษณะแห่งการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทและพยานแวดล้อมเป็นสำคัญ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง มีพิรุธไม่น่ารับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสี่ยังครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยมี พ.ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่พิพาทและว. ซึ่งเคยเป็นกำนันท้องที่พิพาท และต่างมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าพยานมีโอกาสรู้เห็นถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดี ประกอบกับพยานมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีอยู่ในฐานะคนกลางมีน้ำหนักน่ารับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่า และเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยโจทก์มีสิทธิครอบครอง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *