จัดการมรดก-ทายาทโดยธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2508

คำสำคัญ

  • ทายาทโดยธรรมตายก่อนเจ้ามรดก
  • ผู้รับมรดกแทนที่
  • การสละมรดก
  • คำสั่งของผู้ตาย
  • มารดาสละมรดกแทนผู้เยาว์

สรุปย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งตายก่อนเจ้ามรดก ส่วนมรดกที่ทายาทโดยธรรมจะได้รับย่อมตกทอดแก่ผู้สืบสันดานทุกคนของทายาทโดยธรรมนั้นในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ดังนั้น เมื่อทายาทโดยธรรมตาย มีผู้เอาชื่อผู้สืบสันดานคนหนึ่งใส่ลงในหน้าโฉนดเป็นผู้รับมรดกจึงหาทำให้ผู้สืบสันดานคนอื่นๆ เสียสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในที่ดินนั้นไปไม่

คำสั่งของผู้ตายให้ยกที่ดินให้แก่ใครคนหนึ่งนั้นมิใช่พินัยกรรมจึงหาลบล้างสิทธิของทายาทโดยธรรม หรือผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมนั้นไม่

การสละมรดกจะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

การที่มารดาจะสละมรดกแทนผู้เยาว์ได้ จะต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2508

คำสำคัญ

  • ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท
  • ไม่มีทายาทโดยธรรม
  • พินัยกรรมมรดกตกทอดแก่แผ่นดิน
  • ทรัพย์สินอันมีเอกชนเป็นเจ้าของ

สรุปย่อสั้น

ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดินพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้วจึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผลพินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545

คำสำคัญ

  • ทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
  • บุตรชอบด้วยกฎหมาย
  • หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630,มาตรา 1629(4)

สรุปย่อสั้น

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548

คำสำคัญ

  • การสมรสที่ฝ่าฝืน
  • หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจะเป็นคนตัดสิน
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1458, มาตรา 1496,1629 วรรคสอง

สรุปย่อสั้น

บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้

ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2510

คำสำคัญ

  • ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แยกกันอยู่แต่ไม่ได้หย่าร้าง
  • ภรรยาไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและช่วยกันทำมาหากิน
  • ภรรยาเก่าไม่มีสิทธิในทรัพย์ส่วนที่เป็นของภรรยาใหม่

สรุปย่อสั้น

ผู้ตายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อน ต่อมาภริยาได้แยกร้างไปอยู่ต่างหากโดยมิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์ผู้ตายจึงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์กับผู้ตายได้ช่วยกันทำมาหากินโดยภริยาเก่ามิได้มาร่วมปะปนด้วย โจทก์ได้นำทรัพย์ของโจทก์มาให้ผู้ตายหาดอกผล และได้ทำการค้าขาย ช่วยผู้ตายเก็บค่าเช่าดังนี้ ถือได้ว่าผู้ตายและโจทก์ทำมาหาได้ร่วมกัน จึงเป็นเจ้าของร่วมและมีส่วนเท่ากัน เมื่อผู้ตายตายภรรยาเก่าจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์ส่วนที่เป็นของภรรยาใหม่แต่อย่างใด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *