การสมรส-สัญญาก่อนสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2532

ประเด็นสำคัญ

  • การทำสัญญาก่อนสมรสกฎหมายมีแบบ 2 แบบ คือ ให้มีการบันทึกข้อตกลงนั้นไว้ หรือทำเป็นหนังสือขึ้นมาพร้อมทั้งลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคน แนบท้ายไว้หลังทะเบียนสมรส หากไม่ได้ทำตามแบบสองแบบข้างต้น สัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ

สรุปย่อสั้น

สัญญาก่อนสมรสที่ผู้ร้องและจำเลยทำขึ้นมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสตกเป็นสินสมรสนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยมิได้จดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกโจทก์ยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537

ประเด็นสำคัญ

  • ถ้าข้อความในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อความที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้นเป็นตกเป็นโมฆะ
  • จะตกเป็นโมฆะในส่วนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น ส่วนที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ยังมีผลสมบูรณ์

สรุปย่อสั้น

การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 วรรคสอง

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552

ประเด็นสำคัญ

  • หากจดทะเบียนสมรสไปแล้ว ภายหลังมีการมาบันทึกข้อความเพิ่มเติม ข้อความในภายหลังนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาก่อนสมรสแล้ว
  • สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่คู่สมรสได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดก็ได้ที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภาย 1 ปีนับจากวันที่หย่ากันก็ได้

สรุปย่อสั้น

เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *