การสมรส-สินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2565

ประเด็นสำคัญ

  • สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ และทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
  • ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
  • แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อเพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส

สรุปย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533

การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548

ประเด็นสำคัญ

  • สามีภรรยาที่สมัครใจแยกกันอยู่ แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนหย่า ถือว่ายังมีฐานะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่ได้มาได้ระหว่างเป็นสามีภรรยากัน เป็นสินสมรส
  • การจัดการสินสมรส สามีภรรยามีอำนาจจัดการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • การจัดการนั้นต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสินสมรส
  • หากทำความเสียหายหรือไม่นำสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส คู่สมรสอีกฝ่ายขอให้แยกสินสมรสได้

สรุปย่อสั้น

จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)

จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2537

ประเด็นสำคัญ

  • สลากกินแบ่งรัฐบาล แม้ว่าซื้อมาด้วยเงินของตนเองก่อนสมรส แต่เมื่อถูกรางวัลเมื่อสมรสแล้ว เงินรางวัลที่ได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสินสมรส
  • หากการเพิกถอนการจดทะเบียนหย่าเกิดขึ้นหลังการสมรสใหม่ การสมรสนั้นถูกต้้องตามกฎหมาย ไม่เป็นการสมรสซ้อน
  • สามีหรือภรรยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า

สรุปย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อวันที่อะไร ประจำงวดใด และได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะที่โจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอ้างเหตุจำเป็นในการที่โจทก์ขอเป็นผู้จัดการเงินรางวัลที่จำเลยถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ผู้เดียวเอาไว้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ส่วนการที่โจทก์จำเลยจะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไหนจากใคร เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ และจำเลยเองก็เข้าใจข้อหาโจทก์ดีสามารถต่อสู้คดีโจทก์ได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้ภรรยาเดิมของจำเลยจะฟ้องเพิกถอนการหย่า และศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าแล้วก็ตาม แต่เป็นการทำภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1496 ประกอบด้วยมาตรา 1452 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯ ก่อนสมรสกับโจทก์สลากกินแบ่งฯ ออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 1474(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 1485 บัญญัติว่าสามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าเป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาก่อนสมรสกันไว้ เงินรางวัลที่เหลือฝากในธนาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินสมรส โจทก์จำเลยย่อมเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันอยู่แล้วกรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่โจทก์จะเป็นผู้จัดการเงินรางวัลดังกล่าวเพียงผู้เดียวแต่อย่างใด

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2534

คำสำคัญ

  • สินสมรส
  • การยึดสินส่วนตัว
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(1), มาตรา 1474

สรุปย่อสั้น

บิดาผู้ร้องยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามมาตรา 1471(1) แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 การที่บิดาผู้ร้องยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องในระหว่างที่ผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แม้ว่าจะเป็นเพียงการยกสิทธิครอบครองให้โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และผู้ร้องกับจำเลยได้ทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้อง เพราะการที่จำเลยทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับผู้ร้องเนื่องจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเช่นนี้ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาหรือลักษณะแห่งการครอบครองเป็นการยึดถือเพื่อตนอันจักทำให้จำเลยเกิดสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่พิพาท กรณีที่จะเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้ทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรส กลายเป็นสินสมรสเมื่อได้มีการสมรสไม่ แม้ว่าหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2540

คำสำคัญ

  • การแบ่งสินสมรส
  • การยกสินสมรสเป็นพินัยกรรม
  • ทรัพย์ที่ได้ในวันแต่งงานในเป็นสินส่วนตัว

สรุปย่อสั้น

โจทก์และช.ซึ่่งสมรสกันก่อนปี2476ต่างตกลงยินยอมให้แต่่ละฝ่ายทำนิติกรรมยกที่ดินสินสมรสส่วนของตนให้บุคคลอื่นในการทำพินัยกรรมที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์และช. นี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1481แม้โจทก์ตกลงยินยอมให้ช.ทำพินัยกรรมดังกล่าวข้อตกลงยินยอมนั้นย่อมฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นและยังขัดต่อความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1646ที่กำหนดให้บุคคลใดๆมีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของตนเท่านั้นเหตุนี้ข้อตกลงยินยอมดังกล่าวจึงไม่ทำให้พินัยกรรมที่ช. จัดทำมีผลผูกพันไปถึงที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของโจทก์ด้วยโจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าพินัยกรรมไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนส่วนของโจทก์ได้ ที่ดินโฉนดเลขที่4837ในส่วนที่พ.ยกให้ช. ตามสารบาญแก้ทะเบียนท้ายโฉนดดังกล่าวพ. ยกที่ดินส่วนนี้ให้ช. เมื่อวันที่9ตุลาคม2476ก่อนที่่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5พ.ศ.2477ว่าด้วยเรื่องครอบครัวประกาศใช้จึงต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับซึ่งในกฎหมายดังกล่าวบทที่72ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างผัวเมียบัญญัติว่า”ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือชายให้ในวันที่แขก(วันแต่งงาน)ให้เป็นสินเดิมถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียกันแล้วให้เป็นสินสมรส”ซึ่งไม่ได้บัญญัติว่าให้เป็นสินส่วนตัวเลยพ.ได้ยกที่ดินส่วนดังกล่าวให้ช.ภายหลังการแต่งงานที่ดินส่วนนี้จึงเป็นสินสมรสระหว่างช.กับโจทก์เมื่อไม่ปรากฎว่าช.และโจทก์มีสินเดิมการแบ่งสินสมรสจึงเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่68คือชายหาบหญิงคอนช.จึงมีส่วนเป็นเจ้าของ2ส่วนและโจทก์มี1ส่วน

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *