อำนาจปกครองบุตร-ฟ้องขอให้รับเป็นบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533

ประเด็นสำคัญ

  • การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย หากปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งเกิดของบุตร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายนั้น
  • บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถฟ้องเรียกมาทรัพย์มรดกได้ หากบุตรมีสามีหรือภรรยาก็สามารถฟ้องได้เองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรส เพราะทรัพย์มรดกถือเป็นสินส่วนตัว
  • ผู้ที่สามารถยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ คือ ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ถ้าเป็นทายาทที่ไม่มีสิทธิได้รับมรดก ไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้ กับทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้
  • ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการทำศพที่ได้ออกไปก่อน สามารถมาเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายนี้กับผู้จัดการมรดกได้ แต่ค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์นั้นไม่สามารถเรียกคืนได้

สรุปย่อสั้น

การที่ ผ. เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผ. รับรองแล้ว ทรัพย์มรดกของ ผ. เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ เหตุที่จำเลยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ผ.จากอ.ผู้จัดการมรดกเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไปจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำศพ ผ.ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิทีจะนำมาหักไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521

ประเด็นสำคัญ

  • หากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องการที่จะจดทะเบียนบุตรที่เกิดนอกสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียน
  • ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดา บิดาจึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย

สรุปย่อสั้น

บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียนถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533

ประเด็นสำคัญ

  • เมื่อเด็กมีครบอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กสามารถฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
  • เด็กยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในขณะที่ฟ้อง คดีจึงไม่เป็นคดีอุทลุม
  • การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร ดังนั้น เด็กจึงสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะได้เช่นเดียวกัน

สรุปย่อสั้น

โจทก์ผู้มีอายุ 16 ปีเศษ ซึ่งฟ้องขอให้จำเลยผู้เป็นบิดารับรองโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กที่มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และการฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคแรก

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540

คำสำคัญ

  • การถอนอำนาจปกครอง
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคที่ 1

สรุปย่อสั้น

ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544

คำสำคัญ

  • การขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
  • การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555, มาตรา 1558

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *