จัดการมรดก-เจตนาตามพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2508 

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมแสดงเจตนายกทรัพย์ที่มีอยู่และทรัพย์ที่จะเกิดมีในภายหน้าให้บุตรผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว เมื่อผู้ตายตายไปแล้วไม่ให้บุตรคนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดก คำสั่งนี้เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ทั้งผู้ตายได้ทำคำสั่งของตนลงไว้ในเอกสารซึ่งทำเป็นพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมของผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อกำหนดอย่างอื่นที่ให้ผู้รับพินัยกรรมทำเลี้ยงผู้ตายจนตลอดชีวิต หรือให้ใช้หนี้แทนแม้จะเป็นภาระให้กระทำก่อนตายไว้ด้วย เมื่อมีข้อกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินไว้แล้ว ก็หาทำให้กลับกลายเป็นการยกให้ใน ระหว่างมีชีวิตไม่

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556

คำสำคัญ

สรุปย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556 

คำสำคัญ

  • การทำพินัยกรรมในขณะไม่มีสติสัมปชัญญะ
  • ข้อความในพินัยกรรมไม่ใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย
  • ผู้แอบอ้างทำพินัยกรรม
  • พินัยกรรมปลอม
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา1646, มาตรา1647

สรุปย่อสั้น

การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2536

คำสำคัญ

  • การตีความเจตนา
  • ต้องมีการตีความจากข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ
  • พินัยกรรมต้องมีข้อความกำหนดการเผื่อตาย
  • ประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646

สรุปย่อสั้น

การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

ที่มา : http://deka.supremecourt.or.th/search

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *